ตำราพิชัยสงครามของซุนวู บทที่ 1

Assadathon33282

นักปราบมอนสเตอร์
สวัสดีครับผม Assadathon33282

ซุนวูกล่าวว่า สงครามนั้นเป็นกิจกรรมอันยิ่งใหญ่ของรัฐ เกี่ยวพันถึงความเป็นความตาย มรรคา (เต๋า) แห่งความอยู่รอดและการดับสูญ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องคิด วิเคราะห์ พิจารณ์ให้ละเอียด รอบคอบ และรัดกุมก่อนเข้าสู่สงคราม

ดังนั้น มีปัจจัยห้าประการที่พึงให้คุณค่าเปรียบเทียบตลอดการประเมิน และมองหาสภาวธรรมเนื้อแท้ของมัน

ห้าสิ่งนี้ประกอบด้วย
  1. มรรค (เต๋า, ธรรมาภิบาล)
  2. ฟ้า (ธรรมชาติ)
  3. ดิน (สถานการณ์)
  4. แม่ทัพ (ความเป็นผู้นำ)
  5. กฎ (ระเบียบวินัย)
มรรค (ระเบียบการปกครอง) เป็นเหตุให้ประชาชนเห็นพ้องยอมตามตามผู้ปกครองอย่างเต็มที่ พวกเขายินยอมพร้อมตาย พร้อมอยู่กับผู้ปกครอง (รัฐ) และไม่เกรงกลัวภยันตรายทั้งปวง

ฟ้า (สภาพภูมิอากาศ) ประกอบไปด้วยหยินและหยาง หนาวและร้อน และสภาวะความเปลี่ยนแปลงแห่งฤดูกาล

ดิน (หมายถึงภูมิประเทศ) ประกอบไปด้วย ระยะทางใกล้-ไกล ความยาก-ง่ายต่อการเข้าถึงพื้นที่ ความกว้าง-แคบ พื้นที่เสี่ยงตายหรือง่ายต่อการรักษา

แม่ทัพ (ผู้มีหน้าที่นำทัพจับศึก) ประกอบไปด้วยภูมิปัญญา มีความน่าเชื่อถือ จงรักภักดี กล้าหาญชาญชัย และความเข้มงวด

กฎ (การจัดองค์กรกองทัพและวินัยทัพ) ประกอบด้วยการจัดการองค์กรและวินัยทัพ วิถีแห่งการบัญชาการ และการจัดการระบบขนส่งลำเลียงยุทธปัจจัย

ไม่มีแม่ทัพใดไม่รู้จักห้าปัจจัยนี้ ผู้เข้าใจจักมีชัย ผู้ไม่เข้าใจจักปราชัย

เมื่อทำการประเมินเปรียบเทียบ ผ่านการประมาณการ ให้มองหาถึงธรรมชาติของมัน (ข้อเท็จจริงของข้อมูล) จากนั้นให้ถามดังนี้

  1. ฝ่ายใดมีธรรมาภิบาลสูงกว่า
  2. ฝ่ายใดมีแม่ทัพเหนือกว่า
  3. ฝ่ายใดได้เปรียบในเรื่องดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศ
  4. ฝ่ายใดเหนือกว่าในด้านระเบียบวินัย
  5. กองทัพฝ่ายใดมีขีดความสามารถเหนือกว่า
  6. ฝ่ายใดมีกำลังพลที่ฝึกมาดีกว่า
  7. ฝ่ายใดมีระบบพระเดชพระคุณที่โปร่งใส เป็นธรรมมากกว่ากัน
ด้วยสิ่งเหล่านี้แล ข้าฯ จึงรู้ถึงชัยชนะและความปราชัย

แม่ทัพผู้ใดเห็นพ้องตามวิธีการประเมินของข้าฯ ย่อมนำชัยชนะมาใช้ พึงช่วงใช้เขาผู้นั้น แม่ทัพผู้ใดไม่เห็นพ้องตามวิธีการประเมินของข้าฯ หากช่วงใช้แล้วเขาย่อมนำความแพ้พ่ายมาให้ พึงปลดเขาออกเสีย

หลังประเมินความได้เปรียบตามข้อมูลที่ได้รับมา จงปรับใช้มันให้มีผลเป็นอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งถูกเสริมด้วยยุทธวิธีภาคสนามซึ่งตอบสนองต่อปัจจัยภายนอก อำนาจเชิงยุทธศาสตร์จักควบคุมอำนาจแห่งความไม่สมดุลเชิงยุทธวิธี และสอดคล้องต่อผลลัพธ์ที่พึงตระหนัก

อันว่าการสงครามล้วนเป็นวิถีแห่งเล่ห์เพทุบาย

ฉะนั้น ถึงแม้นว่ามีความสามารถ พึงแสดงความด้อยออกมาให้ศัตรูเห็น ยามเคลื่อนไหว จงทำให้เหมือนนิ่งสงบ หากเป้าหมายอยู่ใกล้ จงแสร้งทำเหมือนเล็งเป้าไกล เมื่ออยู่ห่างไกล ให้สร้างภาพว่าอยู่ใกล้เคียง

วางเหยื่อให้ศัตรูติดกับ ทำให้มันปั่นป่วนโกลาหล ก่อนเคลื่อนพลเข้าบดขยี้ทุบทำลาย

ถ้าศัตรูเด่นชัด ให้เตรียมตัวพร้อมสรรพ ถ้ามันเข้มแข็งให้เลี่ยงหลีก

ถ้ามันโกรธ จงรบกวนยั่วเย้า เสแสร้งนอบน้อมมันให้มันหยิ่งยโส

ถ้ามันกำลังพัก บีบบังคับให้มันดิ้นรน (อย่าให้ได้พัก)

ถ้าพวกมันสามัคคี จงยุแหย่ให้บาดหมาง

จู่โจมในยามที่มันไม่พร้อม เข้าหาในยามที่มันไม่คาดหมาย

นี้แลคือวิถีแห่งกลยุทธทางทหารเพื่อชัยชนะ ที่มิอาจกล่าวบอกล่วงหน้า

ก่อนเข้าปะทะ ผู้ใดพิจารณาในศาลบรรพชน (หรือที่สงัด) แล้วว่าปัจจัยเอื้ออำนวยส่วนใหญ่อยู่กับเขา เขาจักกำชัย ผู้ใดพิจารณาในศาลบรรพชนแล้วว่าปัจจัยเอื้ออำนวยเพียงน้อยเป็นของเขา เขาจักปราชัย

ผู้ที่พบว่าปัจจัยเอื้ออำนวยส่วนใหญ่เป็นของเขาจักมีชัย ในขณะที่ผู้ที่พบว่ามีปัจจัยแห่งชัยเพียงน้อยนิดอยู่กับตัวจักแพ้พ่าย แล้วจักนับประสาอะไรผู้ที่ไม่มีปัจจัยเกื้อหนุนเลยสักอย่างเลยเล่า

ถ้าข้าฯ สังเกตมันจากมุมมองนี้ ชัยชนะและความแพ้พ่ายย่อมปรากฏแจ่มชัดแล

แหล่งที่มา (Source) : https://th.m.wikisource.org/wiki/ตำราพิชัยสงครามของซุนวู_บทที่_1

*ตามกฎ : ห้ามโพสต์เรื่องการเมืองหรือส่งเสริม ทำการยุแหย่ให้เกิดความแตกแยกในสังคมโดยเด็ดขาด เพราะนี่เว็บบอร์ด Gamer ไม่ใช่เว็บบอร์ดรัฐบาล แบน 7 วัน และยังกระทำอีก แบนถาวร
*อ้างอิงกฎ : https://mc-th.org/threads/กฏระเบียบต่างๆ-ของบอร์ด-update-2-2-61.9/
*disclaimer : เนื้อหานี้ไม่ได้มีเจตนาอ้างอิงไปถึงเรื่องการเมืองแต่ประการใด เนื้อหานี้เพียงเพื่อใช้ในการศึกษาเท่านั้น

คำเตือน
*ไม่ว่าจะเล่นเกมหรือศึกสงครามก็ฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ เนื้อหานี้มิได้มีเจตนาประทุษร้าย,ก่อให้เกิดความแตกแยก หรือ ชิงดีชิงเด่นแต่ประการใด

สำคัญ
*เนื้อหานี้อาจจะใช้งาน หรือประยุกต์ใช้ กับ Game และอื่นๆได้



Assadathon33282 : ผู้เรียบเรียง
 
แก้ไขล่าสุด:
Top