ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดเชียงใหม่

Assadathon33282

นักปราบมอนสเตอร์
จังหวัดเชียงใหม่

PSX_20190205_003057.jpg
images.jpeg


เนื้อหา

๑. จังหวัดในภาคเหนือ มีเนื้อที่ ๒๐,๑๐๗ ตร.กม. ทิศเหนือจดทิวเขาแดนลาวซึ่งแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.เชียงราย จ.ลำปาง และ จ.ลำพูน ทิศใต้ติดต่อกับ จ.ตาก ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.แม่ฮ่องสอน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณร้อยละ ๘๔ ของเนื้อที่จังหวัด ยอดเขาสูงที่สุดในจังหวัด ชื่อ ดอยอินทนนท์ สูง ๒,๕๘๐ ม. เป็นยอดเขาสูงที่สุดของประเทศด้วย แม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านจังหวัด คือ แม่น้ำปิง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ใน ต.นาหวาย อ.เชียงดาว แล้วไหลลงมาทางทิศใต้ ผ่านตัว จ.เชียงใหม่ ไปเข้าเขต จ.ตาก ความยาวของแม่น้ำสายนี้ที่ไหลผ่านเขต จ.เชียงใหม่ รวม ๒๑๕ กม. ในด้านเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางการค้าและการคมนาคมขนส่งในภาคเหนือ เป็นสถานีปลายทางของทางรถไฟสายเหนือและมีท่าอากาศยานขนาดใหญ่ซึ่งเป็นท่าอากาศยานระหว่างประเทศ ในด้านการเกษตร มีการทำนา ทำไร่ สวนผัก และสวนผลไม้ ผลิตผลสำคัญได้แก่ ข้าว ยาสูบ กระเทียม ถั่วเหลือง ลำไย และลิ้นจี่ มีหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อได้แก่ หอมใหญ่ มันฝรั่ง การทำร่ม เครื่องเขิน เครื่องเงิน ทอผ้า และแกะสลักไม้ ในด้านการทำเหมืองแร่ มีแร่สำคัญคือ ฟลูออไรต์ แบไรต์ และน้ำมันปิโตรเลียม จ.เชียงใหม่ มีความสำคัญในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งที่เป็นโบราณสถาน ศาสนสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมและศิลปกรรมของท้องถิ่น โบราณสถานและสถานที่สำคัญ เช่น พระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ วัดพระสิงห์ วัดสวนดอก วัดเจดีย์หลวง วัดเจดีย์เจ็ดยอด เวียงกุมกาม พระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ส่วนแหล่งท่องเที่ยว เช่น หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง (แม้ว) ที่ดอยปุย น้ำตกแม่สา น้ำตกห้วยแก้ว น้ำตกมณฑาธาร ยอดดอยปุย ผาเงิบ ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ออบหลวง น้ำตกแม่จอน น้ำตกแม่เตี๊ยะ ในอุทยานแห่งชาติออบหลวง น้ำตกม่อนหินไหล ในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา น้ำตกแม่กลาง น้ำตกแม่ยะ น้ำตกวชิรธาร น้ำตกสิริภูมิ น้ำตกสิริธาร ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ น้ำตกศรีสังวาลย์ น้ำตกปางตอง ดอยผาตั้ง ดอยผาแดง ถ้ำตับเต่า ในอุทยานแห่งชาติเชียงดาว โป่งเดือดป่าแป๋ ถ้ำเชียงดาว ดอยอ่างขาง การคมนาคมจากกรุงเทพฯ โดยรถไฟสายเหนือ ระยะทาง ๗๕๑ กม. หรือโดยทางหลวงหมายเลข ๑ (พหลโยธิน ตอน กรุงเทพฯ-สระบุรี) ระยะทาง ๕๑ กม. แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒ (บางปะอิน-พยุหะคีรี) ระยะทาง ๑๕๒ กม. ตรงเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ (พหลโยธิน ตอน พยุหะคีรี-ลำปาง) ระยะทาง ๔๐๐ กม.
PSFix_20190205_005515.jpeg

รูป ทางหลวงหมายเลข ๑๑ (ลำปาง-เชียงใหม่)


แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑๑ (ลำปาง-เชียงใหม่) ระยะทางอีก ๙๗ กม. รวมระยะทาง ๗๐๐ กม. เมืองเชียงใหม่ เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนามาตั้งแต่โบราณ มีชื่อที่ปรากฏในตำนานว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" พระยามังรายได้ทรงสร้างเมืองนี้ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ เวลาสร้างได้เชิญพระสหายสนิท ๒ องค์ คือ พระร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งเมืองสุโขทัย และพระยางำเมืองแห่งเมืองพะเยามาช่วยเลือกสถานที่สร้างเมืองด้วย เมืองเชียงใหม่มีกษัตริย์ราชวงศ์มังรายปกครองสืบต่อมาประมาณ ๒๐๐ ปีระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๙-๒๑๐๑ ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ได้ตกอยู่ใต้การปกครองของพม่าในสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของราชวงศ์มังราย ในระหว่างที่พม่าปกครองเชียงใหม่อยู่นั้น กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพไปตีเชียงใหม่คืนได้จากพม่าเป็นครั้งคราวในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ได้แก่ ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีจึงได้ยกกองทัพไปช่วยเหลือล้านนาภายใต้การนำของพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้านทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาได้สำเร็จ ใน พ.ศ. ๒๓๑๗ เมืองเชียงใหม่จึงเข้ามารวมอยู่กับไทยจนตราบเท่าทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ เชื้อสายของพระยากาวิละได้ปกครองเมืองเชียงใหม่สืบต่อมา จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราช และยกเลิกการมีเมืองประเทศราชในภาคเหนือ จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลลาวเฉียง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นที่ตั้งศาลาว่าการมณฑล ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ และ ๒๔๔๔ ตามลำดับ จนกระทั่งเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดขึ้นตรงต่อราชการส่วนกลางจนถึงปัจจุบันนี้ จ.เชียงใหม่ มี ๒๕ อำเภอ คือ

๑. เมืองเชียงใหม่ (บ้านผู้เรียบเรียง)
๒. กัลยาณิวัฒนา
๓. จอมทอง
๔. เชียงดาว
๕. ไชยปราการ
๖. ดอยเต่า
๗. ดอยสะเก็ด
๘. ดอยหล่อ
๙. ฝาง
๑๐. พร้าว
๑๑. แม่แจ่ม
๑๒. แม่แตง
๑๓. แม่ริม
๑๔. แม่วาง
๑๕. แม่ออน
๑๖. แม่อาย
๑๗. เวียงแหง
๑๘. สะเมิง
๑๙. สันกำแพง
๒๐. สันทราย
๒๑. สันป่าตอง
๒๒. สารภี
๒๓. หางดง
๒๔. อมก๋อย
๒๕. ฮอด

๒. อำเภอเมือง ขึ้น จ.เชียงใหม่ ละติจูด ๑๘^0 ๔๗'.๖ เหนือ ลองจิจูด ๙๘^0 ๕๙'.๔ ตะวันออก ตั้งที่ว่าการที่ ต.ศรีภูมิ เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๑๓ ม. ทิศเหนือติดต่อกับ อ.แม่ริม ทิศตะวันออกติดต่อกับ อ.สันทราย และ อ.สันกำแพง ทิศใต้ติดต่อกับ อ.สารภี และ อ.หางดง ทิศตะวันตกติดต่อกับ อ.หางดง อ.เมืองเชียงใหม่ตั้งเป็นอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ มี ๑๖ ตำบล คือ

๑. ศรีภูมิ
๒. ช้างคลาน
๓. ช้างเผือก
๔. ช้างม่อย
๕. ท่าศาลา
๖. ป่าแดด
๗. ป่าตัน
๘. พระสิงห์
๙. ฟ้าฮ่าม
๑๐. แม่เหียะ
๑๑. วัดเกต
๑๒. สันผีเสื้อ
๑๓. สุเทพ
๑๔. หนองป่าครั่ง
๑๕. หนองหอย
๑๖. หายยา (บ้านผู้เรียบเรียง)

ที่มา - อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย : http://www.royin.go.th/?page_id=143
- รูปตราสัญลักษณ์จังหวัดเชียงใหม่ : http://www.chiangmai.go.th/web2556/


*ตามกฎ : เนื้อหาของกระทู้ต้องเข้าใจง่าย เขียนด้วยตัวหนังสือขนาดปกติจะดีที่สุด ไม่ใหญ่เกินไปจนเละเทะ ควรจะภาพประกอบด้วยจะดีมาก เพื่อเพื่อความเข้าใจ
*การแก้ไข : เรียบเรียงให้เป็นสัดส่วนมากขึ้น,เพิ่มรูปภาพ,ให้ credit เพิ่มเติม
*อ้างอิงกฎ : https://mc-th.org/threads/กฏระเบียบต่างๆ-ของบอร์ด-update-2-2-61.9/


Assadathon33282 : ผู้เรียบเรียง
 
แก้ไขล่าสุด:
Top